พลมารีย์
เกี่ยวกับพลมารีย์

คณะพลมารีย์ [ Legio  Mariae or The Legion of Mary ] 

เป็นสมาคมของชาวคาทอลิก ซึ่งพระศาสนจักรรับรองแล้ว มีพระนางพรหมจารีย์นิรมลเป็นผู้นำที่ทรงพลานุภาพ พลมารีย์รวมตัวเป็นกองทัพ  เพื่อรับใช้พระศาสนจักรในสงครามตลอดกาล  โต๊ะที่ใช้ประชุมกันเป็นพระแท่นง่ายๆ ตรงกลางโต๊ะตั้งรูปแม่พระปฏิสนธินิรมล มีผ้าขาวปูรอง ข้างหน้ามีแจกันดอกไม้คู่หนึ่งและมีเทียนคู่หนึ่งจุดตั้งอยู่บนเชิง  การลงชื่อสมัครเป็นสมาชิกพลมารีย์รุ่นแรก กระทำที่บ้านไมรา ถนนฟรานซิส นครดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เวลา 20.00 น. วันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1921 วันก่อน ฉลองวันสมภพของพระนางมารีย์ เนื่องจากสถานที่กำเนิดชื่อแม่พระมหากรุณา องค์กรนี้จึงเป็นที่รู้จักในนาม “สมาคมแม่พระกรุณา” อยู่ชั่วขณะหนึ่ง  “คณะพลมารีย์แสดงโฉมหน้าแท้จริงของพระศาสนจักรคาทอลิก” (พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23)
คณะพลมารีย์ คือ องค์กรแพร่ธรรมที่แต่งรูปร่างงดงามชวนให้หลงไหล เต็มไปด้วยชีวิตชีวาจนดึงดูดไว้ได้มากมาย คณะนี้เป็นไปตามที่สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่11  ทรงกำหนดไว้ คือขึ้นตรงต่อพระนางพรหมจารีพระมารดาของพระเจ้า เคร่งครัดในเรื่องคุณภาพของสมาชิก ซึ่งมีความสำคัญสู่การรวมพลัง มีเครื่องคุ้มกันโดยอาศัยการสวด   ภาวนา การพลีกรรม มีระบบที่แน่นอน และร่วมมือกับพระสงฆ์ในทุกเรื่อง 
         วัตถุประสงค์ของคณะพลมารีย์ คือ เพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้า ช่วยให้สมาชิกเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อาศัยการภาวนา และร่วมมือทำงานอย่างแข็งขัน ภายใต้การนำของพระศาสนจักร ในการทำงานของพระนางพรหมจารีย์         และงานของพระศาสนจักร คือบดขยี้หัวงู (ปีศาจ) และขยายพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้า โดยขึ้นอยู่กับความเห็นชอบ ของสภาคอนซิเลียม และข้อบังคับที่ตราไว้ในหนังสือคู่มือทางการฉบับปัจจุบันของคณะพลมารีย์ สมาชิกพลมารีย์อยู่ในบังคับบัญชาของพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑล และพระสงฆ์เจ้าวัดเกี่ยวกับงานบริการสังคม และกิจการคาทอลิกทุกรูปแบบ พลมารีย์จะไม่ทำการใดๆ ที่พระสงฆ์ เจ้าวัด หรือสมณะประมุขไม่อนุมัติ
     ก) เป้าหมายของความร่วมมือของฆราวาสในการแพร่ธรรมกับพระฐานานุกรม คือเป้าหมายของพระศาสนจักร ได้แก่ การประกาศพระวรสาร การทำให้มนุษย์มีความศักดิ์สิทธิ์ และการอบรมให้เขามีมโนธรรมคริสตังเพื่อเขาจะได้แทรกจิตตารมณ์พระวรสารเข้าไปในหมู่คณะและองค์กรต่างๆ
       ข) การที่ฆราวาสได้ร่วมงานกับพระฐานานุกรมตามวิธีของเขามาใช้ประโยชน์ และการบริหารองค์กรของตนในการพิจารณาสภาพที่จะนำการอภิบาลสัตบุรุษของพระศาสนจักรมาปฏิบัติและในการคิดและนำแผนการนั้นมาปฏิบัติ
       ค) ฆราวาสปฏิบัติการนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับระบบการทำงานของร่างกาย จนกระทั่งแสดงให้เห็นลักษณะเป็นหมู่คณะของพระศาสนจักรเด่นชัดขึ้นและการแพร่ธรรมยังผลดียิ่งขึ้นด้วย 
       ง) ไม่ว่าฆราวาสจะมาทำงานแพร่ธรรมด้วยตนเอง หรือรับเชิญมาร่วมงานกับพระฐานานุกรมก็ตาม ถือว่าเขาทำงานภายใต้การนำของพระฐานานุกรมและต่อมามีการรับรองอย่างแจ้งชัดถึงการมาร่วมงานนี้ (กฤษฎีกาว่าด้วยการแพร่ธรรมของฆราวาส ข้อ 20)

 

จิตตารมณ์ของคณะพลมารีย์

คือจิตตารมณ์ของพระนางมารีย์เอง  โดยเฉพาะเมื่อพลมารีมุ่งเจริญรอยตามพระนางในเรื่องการถ่อมองค์อย่างลึกซึ้ง ในความนอบน้อมเชื่อฟังบริบูรณ์แบบ ในความอ่อนหวานเยี่ยงเทวดาในการวาดภาวนาเป็นนิจ  ในการทรมานกายเสมอ ในความบริสุทธิ์ไม่ด้างพร้อย  ในความอดทนอย่างวีรชน  ในความชาญฉลาด จากเบื้องบน  ในความรักพระเป็นเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ตัว และเหนือสิ่งอื่นใดในความเชื่อของพระนาง อันเป็นคุณธรรมที่มีล้นเหลือเฉพาะพระนางแต่ผู้เดียว หาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ แบบฉบับดีเลิศแห่งชีวิตฝ่ายวิญญาณ และการแพร่ธรรมสำหรับฆราวาสทุกฐานะคือ พระนางพรหมจารี ราชินีแห่งคณะอัครสาวก ขณะที่พระนางดำรงชีวิตในโลกเหมือนคนอื่นๆ ต้องเอาใจใส่และทำงานในครอบครัวนั้นพระนางร่วมชิดสนิทกับพระบุตรตลอดเวลา และร่วมมีส่วนในงานของพระองค์อย่างไม่มีใครทำเหมือนได้…ทุกคนเลื่อมใสต่อพระนาง   และฝากชีวิตกับการแพร่ธรรมไว้ในความเอาใจใส่ของพระนาง”

 

เปรสิเดียม

คือหน่วยแรกของคณะพลมารีย์ ตั้งอยู่ตามวัด โรงเรียน สถาบันคาทอลิก เปรสิเดียม แบ่งเป็น 2 ระดับคือ        
    ก. ระดับอาวุโส สมาชิกอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 
    ข. ระดับเยาวชน สมาชิกอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

สมาชิก

แบ่งเป็น 2 ประเภท คือสมาชิกประจำการ และ สมาชิกสนับสนุน 
    ก. สมาชิกประจำการอาวุโส ทำงานที่รับมอบสัปดาห์ละ 2 ช.ม. 
    ข. สมาชิประจำการเยาวชน ทำงานที่รับมอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ช.ม. 
    ค. สมาชิกสนับสนุน สวดบทภาวนาของคณะพลมารี (ตามใบแตสเซรา) พร้อมลูกประคำวันละ 1 สาย

 

เจ้าหน้าที่เปรสิเดียม

มี 5 คน คือ จิตตาธิการ (เป็นพระสงฆ์-นักบวช), ประธาน, รองประธาน, เลขานุการ  และเหรัญญิก

หมายเหตุ 
    1. เจ้าหน้าที่เปรสิเดียม (นอกจากจิตตาธิการ) ดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี 
    2. พลมารีย์ชายนำหน้าชื่อว่า บราเดอร์(บ.) พลมารีย์หญิงว่า ซิสเตอร์ (ซ.)

 

หน้าที่พื้นฐานของพลมารีย์แต่ละคน

1. เข้าประชุมเปรสิเดียมประจำสัปดาห์ตรงเวลา สม่ำเสมอ รายงานกิจการที่ทำพอเหมาะและได้ยินชัด 
2. สวดบทกาเตนาทุกวัน 
3. กระทำงานอันมีสาระจริงจังของพลมารีย์ จนกระทั่งถือว่า บุคคลที่ไปติดต่อและเพื่อนสมาชิก เป็นดังพระคริสตเจ้า และตนเป็นดังพระนางมารีอา มารับใช้พระองค์เสียใหม่ 
4. รักษาความลับอย่างเด็ดขาด ในเรื่องที่ทราบจากการประชุมหรือการติดต่อทำงานพลมารีย์

 

สภาพลมารีย์

มีหน้าที่ปกครองคณะพลมารีย์ ให้ดำเนินไปตามจิตตารมณ์และระเบียบ ที่ตราไว้ในหนังสือคู่มือทางการของคณะพลมารีย์ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงสภาสูงสุดมีดังนี้
    1. คูเรีย (
Curia) ท้องที่ใด มีตั้งแต่ 2 ป. หรือมากกว่า ก็ให้ตั้ง “คูเรีย” ขึ้นทำการปกครอง. สมาชิกสภาคูเรียประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทั้งหมด (รวมทั้งจิตตาธิการ) ของ ป. ต่างๆในเขตคูเรียนั้น
    2. คอมิเซียม (
Comitium) ท้องที่ใดมีตั้งแต่ 2 คูเรียขึ้นไป และเห็นควรมอบให้คูเรียใดมีอำนาจปกครองคูเรียอื่นด้วย คูเรียที่มีหน้าที่สูงขึ้นนี้ มีชื่อว่า “คอมิเซียม” เช่นปัจจุบันมีคอมิเซียมที่สังฆมณฑลท่าแร่ และที่อุบลราชธานี ปกติคูเรียและคอมิเซียมมีขอบเขตพื้นที่ไม่เกินสังฆมณฑลหนึ่ง
    3. เรเยีย ( 
Regia ) เป็นสภาบริหารคณะพลมารีย์ในอาณาบริเวณใหญ่กว่าคอมิเซียม (เวลานี้ประเทศไทยยังไม่มีสภาเรเยีย)
    4. เซนาตุส (
Senatus) เป็นสภาปกครองคณะพลมารีย์ ในระดับประเทศ บางประเทศมีกิจการพลมารีย์มากก็อาจมีหลายเซนาตุสได้ เช่นที่เกาหลี สหรัฐอเมริกาและอินเดีย เป็นต้น
    5. คอนซีเลียม (
Concilium Legionis) คือสภาศูนย์กลาง หรือสภาสูงสุด ทำหน้าที่ปกครองคณะพลมารีย์ทั่วโลก สภาศูนย์กลางตั้งอยู่ที่นครดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

 

โพสเมื่อ : 19 ก.พ. 2557,07:44   อ่าน 3805 ครั้ง